หน้าเว็บ

วันอังคารที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2559

The Jungle Book : รีวิวและเรื่องราวน่ารู้เกี่ยวกับหนัง

The Jungle Book : รีวิวและเรื่องราวน่ารู้เกี่ยวกับหนัง


หนังเข้ามาแล้ว 2 อาทิตย์แต่ผู้เขียนเพิ่งได้ดูครับ ดูแล้วก็รู้สึกว่าผิดคาดไปหมดจากที่คิดไว้ว่านี่คือหนังเด็กเรื่องหนึ่ง เพราะเราทุกคนรู้จักเรื่องราวของเมาคลีกันมาแล้วจากวิชาลูกเสือ แต่ The Jung Book  (2016) กลับเป็นเมาคลีขึ้นจอที่เล่าเรื่องได้อย่างสนุกสนาน เป็นหนังผจญภัยที่น่าติดตามตลอดเวลา 100 นาที ดูไปก็นึกชื่นชมไปทำไมหนังมันช่างเลิศเลอเปอร์เฟ็คต์เพียงนี้ ผู้กำกับ จอน แฟฟโร เก่งมากนาทีนี้คงไม่มีหนังอะไรที่แกกำกับไม่ได้อีกแล้ว ซูเปอร์ฮีโร่อย่าง Iron Man ก็ทำมาแล้ว , ดราม่าอย่าง Chef ก็ทำมาแล้ว หรือ ตลกเอาฮาอย่างเดียวอย่าง Elf ก็ทำมาแล้ว ถ้าไม่ไปพลาดตอน Cowboy & Aliens ประวัติจะสวยกว่านี้นะ
junglebook_002
ประทับใจหลาย ๆ อย่างในหนังมาก มุกตลกในหนังเยอะ หัวเราะไปกับสัตว์ที่น่ารักและอารมณ์ดีหลาย ๆ ตัว อารมณ์หนังมาครบถ้วนได้ซึ้งไปกับความรักของแม่หมาป่ากับเมาคลี ได้ตื่นเต้นไปกับฉากไล่ล่าสะดุ้งโหยงอยู่ 2 รอบได้ ต้องยกความดีความชอบให้กับจัสติน มาร์ค นักเขียนหน้าใหม่เลยเขียนบทภาพยนตร์เรื่องนี้เรื่องแรกเก่งมาก
the_jungle_book_2016_upcoming_movie_hd_wallpaper
ความอัศจรรย์ของงานซีจี จากที่เราเคยตื่นเต้นกับภาพเสือใน Life Of Pie ว่าช่างเหมือนจริงอะไรเพียงนี้ เทคนิคที่เคยสร้างเสือตัวเดียวให้ฮือฮา พอมาถึงรอบนี้สามารถเนรมิตรสัตว์ให้เราดูถึง 70 สายพันธุ์ ดูเหมือนจริงไปหมดทั้งการเคลื่อนไหว แล้วยังขยับปากได้ตรงกับเสียงพูดทุกคำอีกด้วย ไม่ใช่เพียงแค่สัตว์แต่ภาพบรรยากาศป่าก็ดูสมจริงเสียเหลือเกิน แทบไม่น่าเชื่อว่าทั้งเรื่องนี้ถ่ายกันในสตูดิโอล้วน ๆ ทีมงานลงรายละเอียดบรรยากาศป่าอินเดียได้เหมือนจริงด้วยการส่งทีมงานไปถ่ายภาพป่าในอินเดียมานับพันภาพ แล้วสร้างภาพซีจีเลียนแบบ สีสันบรรยากาศของป่าในแต่ละฉากก็ยังสามารถสื่ออารมณ์ของเรื่องราวได้ดี เนินหมาป่าก็โทนสีเทา-น้ำตาล เป็นเนินโล่งกว้าง ไม่มีกำแพงรายล้อมให้รู้สึกปลอดภัยก็เข้ากับเรื่องราวในช่วงนั้นที่ไม่รู้ว่าเชียคานจะบุกมาเมื่อไหร่ ป่าดิบของคา ก็ดูมืดลึกลับมองไปไกล ๆ แทบไม่เห็นอะไร แต่พอถึงเขตแดนของบาลูกลับมีสีสันเต็มไปหมดทั้งต้นไม้เขียว ๆ ดอกไม้สวยงาม ลำธารชุ่มฉ่ำ ก็เป็นชีวิตที่เต็มไปด้วยสีสันสนุกสนานของเมาคลีตอนที่ได้อยู่กับบาลู
 ทีมงานลงรายละเอียดบรรยากาศป่าอินเดียได้เหมือนจริงด้วยการส่งทีมงานไปถ่ายภาพป่าในอินเดียมานับพันภาพ แล้วสร้างภาพซีจีเลียนแบบ
ดนตรีของ จอห์น เด็บนีย์ ก็ทำหน้าที่สนับสนุนได้อย่างสมบูรณ์คลออยู่ข้างหลังได้ตลอดเวลาแต่ไม่โฉ่งฉ่างจนเกินหน้า เพลงประกอบน่ารัก มีท่อนฮุคเป็นภาษาตลก ๆ สนุก ๆที่น่าจะถูกใจเด็ก ๆ สมกับเป็นหนังที่สร้างจากนิทาน จอน แฟฟโร บอกว่าขอใส่เพลงไว้แค่ 2 เพลงพอ ไม่งั้นจะรู้สึกว่าเป็นหนังเพลงเกินไป
สุดท้ายผู้สร้างก็ยังไม่ลืมคุณค่าของนิทานคลาสสิคที่แทรกข้อคิดดี ๆ ไว้มากมาย พาเด็กไปดูแล้วชี้แนะให้เห็นความกล้าหาญและเสียสละของเมาคลีได้ความบริสุทธิ์จริงใจของเมาคลีที่ชนะใจบาลูหมีเจ้าเล่ห์ได้ และการอยู่ด้วยกันและยอมรับข้อแตกต่างซึ่งกันและกัน ท้ายที่สุดบาคีลาก็ต้องยอมรับความสามารถในด้านที่เป็นมนุษย์ของเมาคลี ทั้งที่เขาเองเป็นคนห้ามไม่ให้เมาคลีมีพฤติกรรมแบบมนุษย์มาโดยตลอด
 ผู้สร้างก็ยังไม่ลืมคุณค่าของนิทานคลาสสิคที่แทรกข้อคิดดี ๆ ไว้มากมาย
นีล เซธี ก็เป็นเด็กวัย 12 ที่เล่นหนังได้สดใสไหลลื่นมาก ไม่น่าเชื่อว่านี่คือเด็กที่เล่นหนังเรื่องแรก สมแล้วที่เอาชนะคู่แข่งทั้ง 2,000 คนมาได้ ทั้งหมดล้วนทำให้ The Jungle Book เป็นหนังที่ต้องดูครับ สนุกได้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่สมควรแล้วที่หนังครองอันดับ 1 ติดต่อกันมาได้ 2 สัปดาห์ทุนสร้าง 175 ล้านเหรียญ กวาดไปแล้ว 533 ล้านเหรียญ ตอนนี้ดิสนีย์เดินหน้าสร้างภาค 2 แล้วครับ น่าจะพูดถึงเมาคลีตอนโตเป็นหนุ่ม

อ่านเรื่องราวเบื้องหลังที่น่าสนใจกันครับ

  • นักแสดงต่าง ๆ ไม่ได้ให้แค่เสียงพากย์เท่านั้น แต่พวกเขายังต้องแสดงเป็นสัตว์พวกนั้นด้วยเทคนิคโมชั่นแคปเจอร์ เพื่อยึดเอาท่าทางการเคลื่อนไหวของนักแสดงจริงก่อนที่ทีมงานจะเอาไปซ้อนกับภาพสัตว์ที่สร้างด้วยเทคนิคซีจี ที่ทีมงานก็ทำการบ้านด้วยการดูภาพฟุตเตจสัตว์จริง การเคลื่อนไหวขยับปากของสัตว์ จอน แฟฟโรจะยึดลักษณะของสัตว์เป็นหลักมากกว่าการเคลื่อนไหวแบบโมชั่นแคปเจอร์เพื่อไม่ให้สัตว์ดูมีความเป็นคนจนน่าขนลุกเกินไป
  • เสือดำ บาคีล่า ในนิทานแล้วเป็นเพศเมีย แต่จอน แฟฟโร เปลี่ยนให้เป็นเพศผู้ซะ แล้วเปลี่ยน คา ให้เป็นงูเพศเมียแทน เหตุเพราะไม่งั้นในหนังจะมีแต่สัตว์เพศผู้เต็มไปหมด
  • ฉากเปิดตัวลิงยักษ์คิงลูอี้นั้น ให้นั่งพูดอยู่ในเงามืด แล้วค่อยเขยิบตัวมาข้างหน้า แสงส่องให้เห็นใบหน้า ฉากนี้ จอน ได้แรงบันดาลใจมาจากฉากเปิดตัวผู้พันวอลเตอร์ ตัวละครของ มาร์ลอน แบรนโด ในหนังคลาสสิค Apocalypse Now (1979)
  • สัตว์ที่มีรายละเอียดเยอะที่สุดคือ เจ้าหมีแก่บาลู เพราะมีขนเยอะมาก ต้องใช้เวลาในการเรนเดอร์ถึง 5 ชั่วโมงต่อ 1 เฟรม (หนังทั่วไป 24 เฟรม/วินาที บางเรื่องสูงถึง 48เฟรม/วินาที)
  • ขณะที่นีล แสดงอยู่นั้น ทีมงานใช้บริการของ จิม เฮนสัน สตูดิโอ มาทำการเชิดและชักหุ่น เพื่อช่วยให้ นีล มีเป้าสายตาในการมองและช่วยถ่ายทอดอารมณ์ให้สมจริง บางฉากจอน แฟฟโร ก็มาช่วยเล่นเป็นสัตว์บางตัวให้ อย่างตอนวิ่งหนีเชียคาน จอน ก็มาเล่นเป็นเชียคาน คอยวิ่งไล่
  • หนังสือ The Jungle Book ที่เห็นในฉากจบนั้น เป็นหนังสือนิทานเล่มจริง และเป็นเล่มเดียวกันที่ใช้เป็นฉากเปิดในหนังเวอร์ชั่นการ์ตูนปี 1967 แต่ตอนจบของเวอร์ชั่นนั้น หนังสือไม่ได้ถูกปิด เป็นไอเดียของจอน แฟฟโร ว่า “ผมเลยเอาหนังสือมาปิดตอนจบในเวอร์ชั่นนี้ซะ เพื่อเป็นการสดุดีให้หนังต้นฉบับและเป็นการบอกว่าเราได้จบเล่มนี้ให้อย่างสมบูรณ์แล้วนะ”
  • องค์กรพิทักษ์สัตว์ มอบรางวัล “ผู้ริเริ่มนวัตกรรมใหม่ในโลกภาพยนตร์” ให้กับ จอน แฟฟโร เนื่องในเขาเป็นผู้กำกับหนังสัตว์เรื่องแรกที่ไม่ใช้สัตว์จริงเลย
  • งานซีจีเรื่องนี้ต้องใช้ 2 บริษัทช่วยกัน บริษัท weta และ Moving Picture บริษัทหลังคิดค้นซอฟต์แวร์ใหม่ที่ช่วยจำลองกล้ามเนื้อสัตว์แต่ละประเภทเพื่อการเคลื่อนไหวที่สมจริงที่สุด
  • ในฉากที่เหล่าสัตว์ยืนเผชิญหน้ากับเชียคาน ให้สังเกตว่าจะมี หมูป่ากับพังพอนยืนอยู่ข้างกัน เป็นอีกไอเดียของจอน แฟฟโร ที่ต้องการสื่อถึง พุมบ้า และ ทีโมน เป็นการคารวะหนังในตำนานอย่าง The Lion King (1994)

คลิปเบื้องหลังงานสร้าง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น